1. เรียนตามเพื่อนหรือตามกระแส
มีเด็กจำนวนมากเด็กที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบไม่ชอบอะไร ไม่รู้เป้าหมายในชีวิต ฉะนั้นช่วงที่ต้องมีการเลือกแผนการศึกษา เด็กเหล่านี้จึงเลือกเรียนตามเพื่อน ตามกระแสสังคม ตามคำบอกของครู ตามคำปลูกฝังของพ่อแม่ เช่น เรียนให้เก่งจะได้ไปเป็นหมอ วิศวะ หรือไม่ก็ถูกปลูกฝังให้เลือกเรียนแผนวิทย์ - คณิต ไว้ก่อนด้วยเหตุผล เพราะมีทางเลือกเยอะ ทั้งที่เด็กอาจไม่ชอบ สุดท้ายเขาก็ไม่ได้เรียนในสิ่งที่ถนัดหรือที่ชอบ เมื่อเรียนจบออกมา เด็กจำพวกนี้มักจะเปลี่ยนสายงานไปเรื่อยๆ และไม่ได้ทำงานในสายที่ตัวเองจบมา
2. เรียนสาขาที่อยากได้เงินเยอะ
นี่เป็นอีกปัญหาใหญ่ที่เด็กๆ ทุกยุคทุกสมัยถูกปลูกฝังจากพ่อแม่ผู้ปกครองให้เลือกเรียนตั้งแต่แยกแผนการศึกษาในระดับมัธยมศึกษา เพื่อเตรียมการสำหรับเอ็นทรานส์เข้ามหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายให้เลือกคณะที่มีโอกาสสร้างรายได้จำนวนมาก เรียกว่าเลือกเพราะเงินมากกว่าเลือกเพราะตัวเองถนัดหรือชอบ สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าจะได้เงินดีเหมือนที่ตั้งเป้าไว้หรือเปล่า เพราะส่วนใหญ่มักคิดคล้ายๆ กัน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นกระแส เช่น แห่กันเข้าคณะใดคณะหนึ่งจำนวนมาก และสุดท้ายก็ต้องไปแย่งงานกันจำนวนมากเมื่อจบไปแล้วอยู่ดี
3.เรียนกวดวิชาอย่างหนัก
พ่อแม่ทุกคนมักคาดหวังให้ลูกเรียนสูงๆ สอบติดมหาวิทยาลัยดังๆ โดยเห็นว่าความรู้ที่ลูกได้จากรั้วโรงเรียนไม่เพียงพอ ระบบการศึกษาโรงเรียนไม่ได้ให้ความมั่นใจกับพ่อแม่และผู้คนในสังคม เมื่อพ่อแม่แทบทุกคนอยากให้ลูกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ย่อมอยากให้ลูกเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่มีชื่อเสียงก่อน บางคนเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษาหรือระดับอนุบาล จึงมีพ่อแม่จำนวนมากส่งให้ลูกเรียนพิเศษกับโรงเรียนกวดวิชาดังๆ แม้จะแพงแสนแพงแต่ก็ยอมหาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษให้ได้ เพราะหวังว่าจะทำให้ลูกเรียนดี เรียกว่าระห่ำเรียนกวดวิชาตั้งแต่เล็กจนโต เรียนทั้งวันธรรมดาและวันหยุด หรือแม้กระทั่งช่วงปิดเทอม เด็กๆ ก็เรียนรู้ว่าต้องเรียน และต้องเรียน
4.เรียนในชั้นเรียนไม่เข้าใจ
ปัญหานี้มีมาโดยตลอด ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใด ระหว่างเด็กไม่ตั้งใจเรียน หรือครูไม่มีเทคนิคการเรียนการสอนที่ดี ก็เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์มายาวนาน และก็ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและถูกวิธี สุดท้ายเมื่อเด็กเรียนในชั้นไม่เข้าใจ ก็ต้องไปกวดวิชาอยู่ดี อีกประเด็นปัญหาหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องบุคลากรทางการศึกษาในบ้านเรายังขาดแคลนคุณภาพอยู่มาก มีภาพสะท้อนจากเด็กว่าทำไมครูสอนในห้องเรียนไม่รู้เรื่อง แต่กลับสอนพิเศษรู้เรื่อง ทำไมครูไม่หาวิธีการสอนที่สนุก ทำไมเวลาสอนต้องอ่านตามหนังสือ ฯลฯ สรุปก็คือไม่สามารถทำให้เด็กมีความสุขกับการเรียน
5. เรียนเพื่อสอบไม่ใช่เพื่อรู้
การเรียนการสอนในบ้านเรายังเป็นรูปแบบเรียนเพื่อสอบมากกว่าเรียนเพื่อความรู้ เชื่อหรือไม่เด็กไทยเรียนหนักมากที่สุดในโลก แต่ไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ ทั้งนี้ เนื่องจากระบบการศึกษาไม่ได้ตอบสนองต่อการนำความรู้ที่ได้ไปตอบโจทย์การทำงานจริงในอนาคต แต่กลับเน้นการวัดผลคะแนนและการสอบเป็นหลัก จนมีเสียงสะท้อนเกี่ยวกับการศึกษาจากผู้บริหารชั้นนำของไทยที่รับเด็กเข้าทำงาน พบว่าเด็กไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถในแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ นั่นเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่มีสอนในตำราเรียนนั่นเอง
อุปสรรคต่างๆ ในระบบเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่ทำให้เด็กๆ ขาดทักษะชีวิตในการเรียนรู้จักตัวเอง ไม่สามารถค้นหาความถนัดและความสามารถของตัวเองว่าทำสิ่งใดได้ดี
ที่มา http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000034566
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น